3รูปเล็ก

ลักษณะสภาพของทับกลุ่มมันนิบ้านควนไม้ดำ ปะเหลียน ณ จังหวัดตรัง (มีคลิป)

ลักษณะสภาพของทับกลุ่มมันนิบ้านควนไม้ดำ ปะเหลียน ณ จังหวัดตรัง


ลักษณะสภาพของทับกลุ่มมันนิบ้านควนไม้ดำ ปะเหลียน ตรัง
เข้าป่าไป เยี่ยมเยือน ถึงเรือนทับ
เรียงสลับ ในกลางดง พงป่าเขา
เลี้ยงชีวิต นานดำรง พงลำเนา
ทับคือเหย้า ชาวป่า มาแต่บรรพ
สภาพที่พักของกลุ่มมันนิที่บ้านควนไม้ดำ กลุ่มมันนิเรียกว่า "ทับ" ลักษณะการปลูก จะปลูกที่นอนสูงว่าพื้นดินเล็กน้อย โดยใช้ไม้ไผ่เรียงสูงแบบ 45 องศา เวลานอนหัวจะสูง ได้มีโอกาสถาม ชาวมันนิให้เหตุผลว่า
1.เป็นป้องกันอันตรายจากสัตว์เล็กที่อยู่ในดิน
2.เป็นกระวังภัยเมื่อเกิดอันตรายเกิดขึ้นกับชาวมันนิด้วยกันสามารถรุกไปช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มได้รวดเร็วทันที 
3.เป็นที่นอนที่นวดตัว และหัวสูง ทำให้นอนหลับอย่างสบาย
ลักษณะการปลูกทับของกลุ่มมัน บางครั้งเป็นวงกลม หรือเป็นวงรี โดยมีที่พักของหัวหน้ากลุ่มมันนิปลูกอยู่ตรงกลาง ที่พักแต่ละหลังหันหน้าเข้าหากันหมด เพราะต้องเห็นว่าสมาชิกทำอะไร และสิ่งสำคัญเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นสามารถช่วยเหลือกันได้ทันที


วัฒนธรรมชนเผ่ามันิ พวกชนเผ่ามันนิ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่าพวกชาวป่า หรือ เงาะ แต่คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า มันนิ ดำเนินชีวิตอยู่ในดินแดนแถบเทือกเขาบรรทัด มีส่วนหนึ่งอยู่ที่บ้านลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง การรวมกลุ่มของซาไกหรือมันนินั้น ปกติและกลุ่มจะประกอบด้วย 2 ครอบครัวขึ้นไป และจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่มจะมีประมาณกลุ่มละ 15 – 30 คน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการหากิน มีหัวหน้าปกครองกลุ่มเมื่อหัวหน้ากลุ่มตายลงก็เลือกกันใหม่ ไม่มีการสืบตำแหน่งตามสายเลือด
ครอบครัวที่รวมกันเป็นกลุ่มจะมี ทับ หรือ ฮะหยะ เป็นที่อาศัย ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันโดยหันหน้าเข้าหากันเกือบเป็นรูปวงกลม รูปร่างของทับมีโครงสร้างง่ายๆ เป็นรูปเพิงหมาแหงน หลังคามุงใบไม้ ข้างในมีแคร่นอนหันหัวออกทางด้านหน้า ด้านหัวนอนสูงกว่าปลายเท้า การเลือกที่ตั้งทับจะต้องเป็นที่ใกล้แหล่งน้ำแต่ไม่ใช่ที่ลุ่มน้ำขัง มีต้นไม้เพื่อความร่มรื่น แต่ไม่ใหญ่จนอาจจะโค่นลงมาทับอยู่ใกล้แหล่งอาหาร ที่สำคัญคือต้องเป็นที่ไม่เคยมีคนตาย ถ้ามีคนตายจะต้องย้ายทับทันที ส่วนการย้ายด้วยสาเหตุอื่นๆ คือเมื่อขาดแคลนอาหารหรือเกิดการเจ็บป่วย
อาหารของมันนิเดิมเป็นของป่าทั้งพืชและสัตว์ อาหารหลักคือพวกแป้ง ได้จากพวกมันต่างๆ ในป่า มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงชายในการหาอาหาร ผู้หญิงเก็บพืชผักผลไม้ หรือจับสัตว์ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ใช้มือเปล่าจับสัตว์น้ำพวกหอย ปู ส่วนผู้ชายทุกคนจะมีกระบอกตุด หรือ บอเลา เป็นเครื่องมือประจำตัวสำหรับใช้ล่าสัตว์ มันนิไม่กินอาหารดิบ วิธีทำให้สุกคือการเผา ปกติแล้วพวกมันนิไม่มีการสะสมหรือกักตุนอาหาร เมื่อหามาไดก็แบ่งปันกันกินและกินหมดในคราวเดียว ปัจจุบันเมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้น มันนิรู้จักวิธีปรุงอาหาร เช่น หุง ต้ม หลาม และยังรู้จักรับประทานอาหารประเภทขนมหรือบะหมี่สำเร็จรูปอีกด้วย

การแต่งกายของพวกมันนิตามแบบดั้งเดิมคือ ประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งที่หามาได้ตามธรรมชาติ เช่นใช้ใบไม้หรือเอาเปลือกโสนมาทำเป็นทำผ้านุ่ง ผู้หญิงอาจจะเปลือยอกหรือใช้ผ้าคาดอก ส่วนด็กมักจะเปลือยกาย ผู้ชายนุ่งโสร่งผ้าปาเต๊ะหรือผ้าขาวม้า เปลือยท่อนบน ผู้หญิงนุ่งโสร่งปาเต๊ะ สวมเสื้อ แต่พวกหนุ่มสาวชอบที่จะแต่งตามสมัยนิยมที่พวกเขาเห็นจากชาวบ้านหรือโทรทัศน์ คือ นุ่งกางเกงยีน สวมรองเท้าผ้าใบ แว่นตาดำ และสวมหมวก
ด้วยชนเผ่ามันนิเป็นพวกที่มีวิถีชีวิตแนบแน่นอยู่กับป่า ยามเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจะนำเอาพืชพรรณในธรรมชาติมาใช้บำบัดโรคภัย และยังมีความเชื่อกันว่าต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคคือผีสางนางไม้ ดังนั้น จึงต้องมีการป้องกันมิให้เกิดโรคภัยต่างๆ เช่น ในเวลาอพยพต้องแขวนหัวไพล เกล็ดลิ่น หรือใช้ขี้เถ้าทาตามตัว ตามหน้า เพื่อป้องกันผีทำอันตราย การติดต่อกับชาวบ้านและดูโทรทัศน์ทำให้มันนิมีทัศนคติใหม่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย คือก่อนจะออกไปล่าสัตว์ ตีผึ้ง จะดื่มยาชูกำลัง หากเป็นไข้ก็จะกินยาซองแทนยาสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
มันนิจะแต่งงานเมื่ออายุประมาณ 14 – 15 ปี ซึ่งทั้งคู่จะรักใคร่ชอบพอกันก่อน ที่สำคัญต้องต่างสายเลือดกัน ผู้ชายเป็นฝ่ายไปสู่ขอต่อผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงไม่ตกลงก็แต่งงานไม่ได้ ถ้าตกลงฝ่ายหญิงอาจจะไม่เรียกสินสอด หรือเรียกเป็นลิงเป็นค่างเพื่อใช้กินเลี้ยง โดยเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ต้องออกป่าล่าสัตว์มาเลี้ยงเพื่อนฝูง และหน้าที่ของฝ่ายชายอีกย่างหนึ่งคือสร้างทับที่อยู่อาศัย เมื่อสร้างทับเสร็จ กินเลี้ยงเสร็จ เจ้าบ่าวก็พาเจ้าสาวไปอยู่ด้วยกันและจะอยู่แบบผัวเดียวเมียเดียวไปชั่วชีวิต เว้นแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตไปก่อน ฝ่ายที่เหลืออยู่จะมีคู่ครองใหม่ก็ได้ บางคนไปแต่งงานกับคนต่างกลุ่ม เช่น มันนิหนุ่มที่ปะเหลียนไปมีครอบครัวอยู่กับสาวที่ธารโต จังหวัดยะลา แต่ส่วนใหญ่มักแต่งงานกับคนในกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ กันทุกกลุ่มจึงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติอย่างเหนียวแน่น การแต่งงานระหว่างมันนิกับชาวบ้านนั้นแทบไม่มีเลย

เด็กมันนิที่จะออกมาลืมตาดูโลกต้องอาศัยฝีมือหญิงสูงอายุในกลุ่มเป็นหมอตำแย เรียกว่า โต๊ะดัน หรือ โต๊ะบิดัน ในระยะใกล้คลอด สามีจะหาสมุนไพรชื่อว่า ตำโตก มาให้ภรรยากินเพื่อจะได้คลอดง่าย เมื่อเจ็บท้องจะมีการนวดท้องและเสกคาถาลงไปที่หน้าท้องแม่เพื่อช่วยให้คลอดง่ายเช่นกัน คลอดแล้วโต๊ะบิดันจะตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่บางๆ ล้างตัวเช็ดตัวให้แห้ง สามีก็จะต้องขุดหลุมใกล้ๆ กับแคร่ที่ภรรยาคลอดให้ลึกประมาณ 1 ศอก สำหรับฝังรก ส่วนแม่นั้นต้องอยู่ไฟ ประคบก้อนเส้า พร้อมทั้งกินยาสมุนไพรที่ให้ความร้อนสูง เมื่ออยู่ไฟครบ 7 วันแล้ว แม่จะแข็งแรงสามารถเดินทางได้ พวกเขาจะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะเชื่อว่าเลือดที่ออกมาตอนคลอดนั้น หากทิ้งไว้หลายๆ วันเลือดนั้นจะตายและเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยได้

เมื่อมันนิตาย กลุ่มที่อยู่ในปะเหลียนจะไม่มีการฝังศพ พวกเขาจะสร้างทับขึ้น บางครั้งก็ใช้ทับเดิมที่ผู้ตายอาศัยอยู่ ซึ่งจะทำให้มีลักษณะต่างไปจากทับอาศัยทั่วไป คือใช้ใบไม้ปิดปากทับเป็นรูปกระโจมให้ผู้ตายนอนในทับพร้อมกับใส่ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ตายไว้ด้วย ภายนอกทับจะมีก่อกองไฟอีกกองหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นพวกที่อยู่ก็จะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ทันที เพราะเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วจะเป็นผีอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่และอาจจะทำอันตรายได้ เพราะฉะนั้นมันนิจะไม่กลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีคนตายเป็นอันขาด


ความคิดเห็น

หลายรูป

new1

loading...

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เป็นบุญตาครับ พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง (รูปหายากมาก)

เขาต่อยไห อ.เมือง ณ จังหวัดตรัง

โรงเรียนอนุกูลสตรีทับเที่ยง โรงเรียนสตรี แห่งแรก เมืองตรัง