3รูปเล็ก

อนุสาวรีย์ วัว แห่งเดียวในประเทศไทย ไอ้หัวกัว ยอดวัวชน ณ จังหวัดตรัง

ไอ้หัวกัว ยอดวัวชน

ไอ้หัวกัว ยอดวัวชน ตรัง - ผู้เฒ่าชาว ต.บางเป้า อ.กันตัง อาลัย “โคหัวกัว” วัวชนแสนรัก ซึ่งโชว์ผลงานสุดยอดชนชนะถึง 19 ครั้งติดต่อกัน จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นแห่งเดียวของประเทศไทย ที่บ้านควนทองสีห์ หมู่ที่ 6 ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง มีการสร้างอนุสาวรีย์โคชน หรือวัวชน ที่มีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของผู้คนรุ่นอายุ 70-80 ปี โดยสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2535 หรือกว่า 20 ปีที่แล้ว ตามแนวคิดของนายสมบูรณ์ รักราวี อดีตเกษตรกรชาวนา ซึ่งเคยประกอบอาชีพรับเลี้ยงวัวพื้นเมืองที่ถูกส่งมาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ฝูงละ 500-1,000 ตัว ก่อนนำลงท่าเรือกันตัง แล้วส่งไปขายยังประเทศอินโดนีเซีย นายตรีจักร รักราวี อายุ 60 ปี ครูโรงเรียนบ้านบางเป้า และนายหนังตะลุงคณะ อ.ตรีจักร ตะลุงบัณฑิต เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อสมบูรณ์ ได้พ่อพันธุ์วัวชนมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งดูแล้วมีรูปร่างดี จึงนำมาผสมกันแม่พันธุ์วัวชนในจังหวัดตรัง จนได้ลูกวัวชนตัวหนึ่งออกมา

แต่เนื่องจากที่หน้าผากของมันมีขนงอกออกมาเป็นวงกลมสีขาว จึงตั้งชื่อว่า “โคหัวกัว” เพราะมีลักษณะเหมือนกับปลาหัวตะกั่ว กระทั่งประมาณปี 2487 เมื่อลูกวัวชนตัวนี้เติบใหญ่สมบูรณ์เต็มที่ จึงได้นำไปชนแข่งขันทั่วทั้งภาคใต้ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปี ในการลงสังเวียนสู้ศึกของ “โคหัวกัว” สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน อย่างที่ไม่เคยมีวัวชนตัวใดทำได้เลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ กระทั่งเมื่อถึงนัดที่ 20 ซึ่งเป็นไฟต์ที่จำต้องลงสนามแข่งตามเสียงเรียกร้องของเซียนวัวชน และถูกจับคู่ให้ชนกับ “โคขาวเทวา” จากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคืนก่อนลงสังเวียน คุณพ่อสมบูรณ์ ฝันว่า วัวชนของเขาจะไม่แพ้วัวตัวใดในประเทศไทย นอกจากวัวเทวดา ขณะที่ “โคหัวกัว” ก่อนจะชนในครั้งนั้นก็ยืนน้ำตาไหลอาบแก้ม หลังจากลงทำการแข่งในนัดที่ 20 และต้องพ่ายไปเป็นครั้งแรก คุณพ่อสมบูรณ์ ตัดสินใจยุติบทบาทวัวชนแสนรักบนสังเวียนอย่างสิ้นเชิง แล้วนำมาเลี้ยงไว้จนตายลงไปเมื่อปี 2497 อย่างไรก็ตาม ด้วยความอาลัย

และเพื่อแสดงความยกย่อง คุณพ่อจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ให้เมื่อปี 2535 ที่บริเวณบ้านคุณย่า คือ นางช่วง รักราวี ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว โดยปั้นวัวชนขนาดเท่าตัวจริง พร้อมตัวฐาน โต๊ะบูชา รั้ว และโคมไฟ ซึ่งจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ และอาบน้ำให้รูปปั้นทุกวันที่ 14 เมษายน หรือเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี นายละดม เชื้อช่วย นายกองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) บางเป้า กล่าวว่า ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของอนุสาวรีย์ “โคหัวกัว” จึงมีเซียนวัวชนมาบทบานศาลกล่าวก่อนนำวัวไปลงสนามแข่ง รวมไปถึงชาวประมงซึ่งต้องออกเรือไปหาปลา ก็จะมาขอพรกัน โดยหากสำเร็จผลก็จะนำธูปเทียน กล้วยน้ำว้า อ้อย หญ้าครุน และประทัด มาบูชา รวมทั้งบางรายยังได้มีการนำหนังตะลุงมาแสดงแก้บนหน้าอนุสาวรีย์ด้วย อย่างไรก็ตาม หากวัวตัวดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้เชื่อว่า จะมีค่าตัวมูลค่าสูงในระดับต้นๆ ของประเทศคือ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทเลยทีเดียว

พันธุ์วัวชนเป็นพันธุ์ไทยเฉพาะ เจ้าของจะผสมพันธุ์วัวชนของตนเอง แล้วคัดเลือกวัวลูกคอกที่มีลักษณะดี นำมาเป็นวัวชน อายุ ๔-๖ ปี จัดว่าอยู่ในวัยหนุ่มถึกเต็มที่เหมาะที่จะชน ....... การเลี้ยงดู ในระยะแรกต้องเอาวัวที่คัดเลือกไว้นั้นมา "ปรน" (บำรุงเลี้ยงดู) ให้สมบูรณ์เสียก่อน ในกรณีที่เป็นวัวใหม่ อาหารหลักคือหญ้า วัวชนนั้นจะต้องตัดหญ้าใส่ลังหรือรางให้กินในโรงวัวหรือที่พักของวัว ไม่ปล่อยให้กินหญ้าเหมือนวัวประเภทอื่น ๆ อาหารหลักอย่างอื่นมีน้ำและเกลือ สำหรับน้ำจะต้องให้วัวกินละ ๒ ถึง ๓ ครั้ง เกลือให้กิน ๑๕ วันต่อครั้ง ครั้งละ๑ กำมือ หรืออาจจะมากน้อยไปกว่านั้นก็ได้ อาหารเสริมสำหรับวัวชนมีหลายอย่าง เช่น ถั่วเขียวต้มกับน้ำตาลกรวด กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม น้ำมะพร้าวอ่อน ขนุน ไข่ไก่และผลไม้อื่น ๆ สำหรับไข่ไก่ให้วัวชนกินครั้งละ ๑๐ ถึง ๑๕ ฟอง อาจจะเอาไข่ไก่ตีคนกับเบียร์ดำใส่กระบอกกรอกให้กินก็มี

ที่อยู่ของวัวชน จะปลูกสร้างเป็นโรงนอนให้อยู่ขนาดพอควร แต่ต้องก่อไฟแกลบไล่ยุงและริ้น ไม่ให้มารบรวนได้ บางตัวที่เจ้าของมีฐานะดี กางมุ้งหลังใหญ่ให้วัวนอน หรืออาจทำมุ้งลวดให้ โรงวัวดังกล่าวจะต้องทำความสะอาดทุกวัน .........การออกกำลังกายและฝึกซ้อมก่อนชนวัว ในระยะก่อนชน คนเลี้ยงจะต้องนำวัวเดินหรือวิ่งออกกำลังกายในตอนเช้ามืดทุกวัน เป็นระยะเวลาทางประมาณ ๕ ถึง ๑๐ กิโลเมตร เมื่อเดินหรือวิ่งในตอนเช้ามืดแล้ว คนเลี้ยงวัวจะนำวัวไปอาบน้ำ ด้วยการขัดสีด้วยแปรง บางตัวฟอกสบู่จนเนื้อตัวสะอาดสะอ้านดีแล้ว จึงนำมากินหญ้ากินน้ำ แล้วเริ่มตากแดด เรียกว่า "กราดแดด" คือล่ามหรือผูกไว้กลางแดด เพื่อให้วัวชนมีน้ำอดน้ำทน เริ่ม "กราดแดด" ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น. แต่บางตัวจะต้องกราดแดดต่อไปจนถึงบ่ายก็มี เมื่อกราดแดดแล้วก็นำเข้าเพื่อพักผ่อน ให้กินหญ้าให้กินน้ำ พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ น. คนเลี้ยงจะนำวัวพาเดินไปยังสนามที่จะชน เพื่อให้คุ้นเคยกับสถานที่ เรียกว่าให้ "ลงที่" ทุกวัน

แล้วนำมากลับอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งอีกครั้งก่อนที่จะเข้าที่พัก เพื่อให้กินหญ้ากินน้ำและพักผ่อน จึงเห็นได้ว่าในช่วงเวลาวันหนึ่ง ๆ นั้น คนเลี้ยงวัวชนจะต้องเอาใจใส่โดยกระทำต่อวัวของตนเป็นกิจวัตรประจำวัน .........การซ้อมคู่ การซ้อมคู่ หรือปรือวัว จะใช้เวลาประมาณ ๕-๑๐ นาที และต้องใช้เชือกยาว เพื่อสะดวกในการแยกคู่ออกจากกันเมื่อต้องการหยุดซ้อม การซ้อมคู่ทำได้ประมาณ ๑-๒ ครั้งต่อเดือน วัวชนตัวหนึ่งๆ ต้องซ้อมคู่อย่างน้อย ๔-๕ ครั้ง จึงจะทำกันชนได้ ........การเปรียบวัว การเปรียบวัว คือการจับคู่ชน นายสนามจะเป็นผู้นัดวันเปรียบวัวโดยให้นำวัวที่จะชนกันมาเข้ายืนเทียบกัน เพื่อพิจารณาความสูงต่ำ เล็กใหญ่ของลำตัว และเขาของวัวทั้งสอง เมื่อเจ้าของวัวตกลงจะชนกัน นายสนามจะกำหนดวันชนซึ่งเจ้าของวัวจะต้องปฏิบัติตามกติกาการชนวัวอย่างเคร่งครัด

โอกาสหรือเวลาที่เล่น การชนวัวมักจะชนในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลเดือนสิบ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวบ้านหยุดการทำงาน มารื่นเริงสนุกสนานตามเทศกาล บางสนามวัวชนจะมีการชนวัว เดือนละครั้ง ในวันเสาร์และอาทิตย์ หรือแล้วแต่โอกาสอันเป็นที่ตกลงนัดหมาย ........กีฬาชนวัวเป็นกีฬาพื้นเมือง มีกติกาชัดเจนถึง ๑๔ ข้อ จนถึงขั้นแพ้ชนะ ให้ความสนุกสนานตื่นเต้นประทับใจแก่ผู้ชมยิ่ง ในระยะแรกจึงเชื่อกันว่า ชนเล่นเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมามีการพนันกันขึ้น มีการมัดจำวางเงินเดิมพันกัน จึงเป็นที่น่าวิตกว่ากีฬาชนวัวอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา เพราะการพนันย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย เพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อย ทางราชการจึงควรเข้าไปควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีขอบเขตจำกัดให้การชนวัวเป็นเพียงกีฬาพื้นบ้าน เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

ขอบคุณเครดิตจาก FB บุญครอง คันธฐากูร ในกลุ่มย้อนรอยเมืองตรัง

ความคิดเห็น

หลายรูป

new1

loading...

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถ้ำเขาหัวแรด อ.ห้วยยอด ณ จังหวัดตรัง

เขาต่อยไห อ.เมือง ณ จังหวัดตรัง