หลวงพ่อวัน มะนะโส สมณะทรงคุณธรรม จังหวัดตรัง
หลวงพ่อวัน มะนะโส สมณะทรงคุณธรรม จังหวัดตรัง “หลวงพ่อวัน มะนะโส” หรือ “พระบริสุทธศีลาจาร จนฺทสรมหาเถร” ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นชาวบ้าน โคกแตระ ควนขัน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2421 หรือตรงกับวันอังคาร แรม 14 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล โยมบิดาชื่อ “จอก” โยมมารดาชื่อ “คล้าย” มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยท่านเป็นบุตรคนโตของครอบครัว ส่วนน้องอีก 2 คน คือ “นายเคียง” และ “นางสัม มะนะโส” .........ในวัยเด็กท่านอยู่กับครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรได้ระยะหนึ่ง จากนั้น ทางบ้านก็ส่งให้ไปอยู่กับญาติที่บ้านป่าพะยอม อำเภอควนขนุน (ปัจจุบันเป็นอำเภอป่าพะยอม) จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ.2443 โดยฝากให้อยู่กับ “พระอธิการเรือง” เจ้าอาวาสวัดป่าพะยอม ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และเลขไทย จนอ่านออกเขียนได้เฉกเช่นเด็กวัดในชนบททั่วๆ ไป จนกระทั่งอายุ 17 ปี เจ้าอาวาสก็ให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี “พระครูกาชาด” วัดป่าลิไลย์ เป็นพระอุปัชฌาย์
........เมื่อบวชแล้ว “หลวงพ่อวัน” ก็ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เรียนบาลีมูลกัจจายนะ และเรียนวิชาอาคมเวทย์มนต์ต่างๆ จวบจนกระทั่งอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์ ท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2441 ณ พัทธสีมาวัดป่าพะยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมี “หลวงพ่อคง” วัดบ้านมูล เป็นพระอุปัชฌาย์ “หลวงพ่อใหม่” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ “หลวงพ่อปล้อง” เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺทสรมหาเถร” ..........หลังจากบวชได้ 1 พรรษา ท่านก็ต้องการที่จะลาสิกขาบท แต่พระอาจารย์คือ “พระอุปัชฌาย์คง” ห้ามไว้ว่ายังลาสิกขาไม่ได้ เพราะที่เล่าเรียนศึกษามายังไม่เพียงพอ และยังไม่ซาบซึ้งถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง ควรที่จะศึกษาในการที่จะเจริญสมถกัมมัฏฐานธรรม และวิปัสสนากัมมัฏฐาน พิจารณาในสติปัฏฐาน 4 ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระพุทธศาสนา
.......... “หลวงพ่อวัน” จึงตัดสินใจไม่ลาสิกขาบท และปฏิบัติธรรมตามที่พระอาจารย์บอกกล่าวด้วยความเคารพ พร้อมทั้งตั้งใจศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจัง จนเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม กระทั่งพรรษาที่ 3 ท่านได้บอกลาพระอาจารย์มาเยี่ยมครอบครัวที่บ้านท่าจีน (ทุกวันนี้ชื่อบ้านท่ากลาง) ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง โยมบิดา-มารดา รวมทั้งญาติพี่น้อง จึงพร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดประสิทธิชัย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “วัดปอน” หรือ “วัดท่าจีน” เพื่อจะได้อยู่ใกล้บ้าน ............จึงกลับไปลา “พระอุปัชฌาย์คง” เพื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดประสิทธิชัย โดยขณะนั้นมี “พระอธิการเวียง วิริโย” (ขุนสิทธิชัย ภักดี) ผู้มีฐานะเป็นน้องต่างมารดา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด แต่หลังจากท่านไปจำพรรษาอยู่ไม่นาน เจ้าอาวาสก็ขอลาสิกขาบท เพราะมีอาการอาพาธหนัก ต้องการกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อให้ญาติพี่น้องคอยดูแลรักษา ท่านจึงได้อยู่รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ 1 ปี กระทั่งเมื่อ พ.ศ.2445 ท่านก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประสิทธิชัย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน
หลังจากนั้น “หลวงพ่อวัน” ก็เร่งจัดการงานบริหาร เพื่อพัฒนาวัดให้รุ่งเรือง และก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูง รวมทั้งพูดจาไพเราะ และยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้ที่ประสบพบเห็น และรับฟังคำแนะนำสั่งสอน ขณะเดียวกัน ท่านยังมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย มีสมณสัญญา สันโดษ มัธยัสถ์ เคร่งครัดในสิกขาวินัย ยินดีในสิ่งที่ได้ ใช้ในสิ่งที่มี ยินดีและพอใจ ชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตาธรรม และมีคุณลักษณะอื่นๆ อันเป็นส่วนสังคหธรรมปฏิบัติ จนเป็นที่เคารพนับถือยกย่องทางคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไป ในฐานะปูชนียบุคคลที่มีคุณธรรมอันสูงส่งยิ่ง .........*ต่อมา พ.ศ.2449 ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอห้วยยอด (เจ้าคณะแขวงอำเภอเขาขาวในสมัยนั้น) พ.ศ.2469 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2479 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดตรัง พ.ศ.2490 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดตรัง และ พ.ศ.2493 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดตรัง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระบริสุทธศีลาจาร คณะบริหารอริยวงศวาที สังฆปาโมกข์” ทั้งนี้ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยความชราภาพ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 เวลา 21.10 น. รวมอายุได้ 82 ปี 11 วัน ซึ่งสร้างความโศกเศร้าแก่คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก
“หลวงพ่อวัน” เป็นพระนักปฏิบัติเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์ ทำให้วิชาอาคมต่างๆ ที่ท่านศึกษาเล่าเรียนมามีความเข้มขลังอยู่ตลอด จัดเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชาอย่างมากในสมัยนั้น แม้ว่าท่านจะไม่เคยอ้างอวดคุณวิเศษในตนเองอย่างใด แต่ลูกศิษย์หรือผู้ที่เคารพก็ได้พบเห็นประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะจากวัตถุมงคลซึ่งมีเพียงไม่กี่รุ่น และปัจจุบันหาได้ยาก ผู้ใดที่มีไว้ครอบครองต่างก็หวงแหนกันเป็นอันมาก ...........นับตั้งแต่เหรียญรุ่นแรก ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2487 หรือรุ่น 2 ที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2498 มาถึงรุ่น 3 ที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2503 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน โดยใช้บล็อกรุ่น 2 ในการจัดสร้าง ส่วนรุ่น 4 คณะศิษย์ยานุศิษฐ์ร่วมกันจัดสร้าง เมื่อ พ.ศ.2516 รุ่น 5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2520 และรุ่น 6 สร้างเมื่อ พ.ศ.2530 ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่จัดสร้างเป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดงทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละรุ่นเป็นที่หมายปองของพุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดตรัง และจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่สูงล้ำจนเกินคำอธิบาย ......... “หลวงพ่อวัน” รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดเกจิอาจารย์แห่งเมืองตรัง ข้อมูล : เมธี เมืองแก้ว อำนาทร์ สุวรรณคีรี
ขอบคุณเครดิตจาก FB บุญครอง คันธฐากูร จากกลุ่ม ย้อนรอยเมืองตรัง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น